รีวิว Nokia Lumia 630 สมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ตัวแรกของโลก

เมื่องาน BUILD 2014 โนเกีย ได้อาศัยเวทีนี้ในการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8.1 ตัวแรก ๆ ของโลก อันได้แก่ Lumia 630, Lumia 630 Dual-SIM และ Lumia 930 และในวันนี้ ผมได้มีโอกาสได้ลองใช้งานเจ้า Lumia 630 แบบจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งตัวนี้ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ตัวแรกของโลกในราคาที่เอื้อมถึงได้ (4,990 บาท) มันมีดีอะไร น่าใช้มากน้อยแค่ไหน เรามาแกะกล่องพร้อมกันเลยดีกว่าครับ

หมายเหตุ:

  • เนื่องด้วยตัวรีวิวนี้เขียนเสร็จได้สักพักแล้ว แต่มีปัญหาเกี่ยวกับภาพ ทำให้ต้องดีเลย์โพสต์รีวิว จึงขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
  • รีวิวชุดนี้สนับสนุนตัวเครื่องและการรีวิวโดย ไมโครซอฟท์ ดีไวซ์ ประเทศไทย ครับ
  • เนื่องจาก ณ วัน และเวลาที่เขียนรีวิวชิ้นนี้ Lumia 630 รุ่นซิมเดียวยังไม่วางจำหน่ายในไทย ฉะนั้น เครื่องที่นำมารีวิวนี้จะเป็นเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศครับ ซึ่งตัวกล่อง และอุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนกับรุ่นในไทยมาก ๆ ครับ ฉะนั้นรีวิวตัวนี้ แม้เครื่องจากนอก แต่ใกล้เคียงกับรุ่นในไทยครับ ;-)

แกะกล่อง

ปกติแล้ว กล่องของสมาร์ทโฟนของโนเกียตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมาจะเป็นรูปทรงสูงสีน้ำเงิน แต่ทว่า packaging ของ Lumia 630 นั้นกลับต่างจากที่เราเคยได้สัมผัสมา คือเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เพราะดีไซน์กล่องเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมใหญ่ ๆ แบน ๆ และสีขาวแทน โดยด้านหน้าจากเดิมที่แสดงภาพตัวเครื่องแบบพาโนรามา 3 ด้าน ก็ปรับมาเป็นภาพเต็ม ๆ หน้าเดียวไปเลย ส่วนด้านหลังก็มีรายละเอียดของอุปกรณ์เหมือนเดิม ด้านข้างซ้ายก็จะเปลี่ยนเป็นการบอกชื่อรุ่นแทน

ในแง่การจัดวางเพื่อจัดจำหน่ายถือว่าทำได้ดีมาก เพราะจัดเก็บง่าย แต่ถ้านับในแง่ของการตั้งโชว์ ก็คงจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไร เพราะว่าถ้าหากโชว์แบบครึ่งกล่องก็ค่อนข้างเปลืองเนื้อที่พอสมควรเลยทีเดียว

ขณะที่การดึงตัวถาดใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปเล็กน้อยคือ มีรอยเฉียง ๆ ให้ดึงตัวกล่องออกมา ทำให้รู้ตำแหน่งที่ดึงกล่อง และดึงง่ายขึ้นมาก

พอดึงกล่องออกมา ก็จะพบกับช่องใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ ทางด้านซ้าย และ Lumia 630 ทางด้านขวา

สังเกตว่าใน packaging จะไม่มีตัวหูฟังแถมมาให้ ฉะนั้นถ้าอยากได้สามารถซื้อเพิ่มได้เองในราคาตั้งแต่ 270 บาทเป็นต้นไป

ด้านใต้ตัวเครื่อง Lumia 630 จะเป็นช่องใส่คู่มือ, แบตเตอรี่ และใบรับประกัน (ซึ่งในรีวิวนี้ไม่มีใบรับประกันเนื่องจากไม่ใช่รุ่นที่ขายในประเทศไทยครับ)

ส่วนข้างล่างนี้คือเมื่อแกะกล่องเสร็จแล้วครับ

สำรวจรอบ ๆ เครื่อง

ด้านหน้าตัวเครื่องของ Lumia 630 นั้นไม่มีอะไรมากนอกเหนือไปจากตัวลำโพงสนทนา 1 ตัว, หน้าจอ 4.5 นิ้ว และก็ไมโครโฟนสนทนา

ข้อสังเกตหลัก ๆ คือ Lumia 630 จะไม่มีปุ่มสัมผัสจริง (capacitive keys) แล้ว แต่จะย้ายไปใช้ปุ่มบนจอแทนเพื่อให้ราคาของเครื่องไม่สูงมากครับ ประกอบกับ guideline ในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของ Windows Phone ยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องมีปุ่มจริงแล้ว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อ OEM และผู้ใช้งานโดยตรงครับ อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ Lumia 630 จนไปถึง Lumia 638 (Lumia 630 รุ่นรองรับ 4G และ 2 ซิมที่วางจำหน่ายในจีนเท่านั้น) คือมันกลับไม่มี light sensor และ approximity sensor เลย

ด้านข้างขวา จะมีปุ่มปรับระดับเสียง กับปุ่มปิดหน้าจอ/ปิดเครื่อง ข้อสังเกตหลัก ๆ คือ ตอนนี้ไม่มีปุ่มกล้องแล้วครับ (ตาม guideline ในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ของ Windows Phone ยุคใหม่เช่นกันครับ ตรงนี้ผมแอบเซ็งเล็กน้อยครับ)

ด้านหลังจะพบกับกล้องหลังความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และก็ลำโพง 1 จุดเล็ก ๆ (แต่เสียงใช้ได้เลยครับ)

เมื่อแกะฝาหลังออกมา จะพบกับช่องใส่ซิม, ช่องใส่ microSD และช่องแบตเตอรี่ ส่วนฝาหลังเป็นฝาแบบพลาสติก polycarbonate ซึ่งตัววัสดุฝาหลังยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับ Lumia 520 ฝาหลังค่อนข้างบาง ยวบง่าย บิดง่ายมาก ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อเสียนิดนึง แต่ด้วยราคาก็อาจจะให้อภัยได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าทางไมโครซอฟท์น่าจะทำได้ดีกว่านี้ครับ

ด้านข้างซ้ายเรียบเนียน ไม่มีอะไรครับ

ด้านบนมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร

ด้านล่างมีช่องเสียบ micro USB 1 ช่อง

Bottom

โดยรวม Lumia 630 ถือว่าทำตัวเครื่องได้ระดับกลาง ๆ คือสวยครับ แต่ยังมีข้อด้อยด้านฮาร์ดแวร์บางจุด เช่น การไม่มีปุ่มกล้อง, ไม่มี light sensor, approximity sensor ซึ่ง 2 ตัวหลังนั้นเมื่อไม่มีแล้วจะเป็นอย่างไร จะอธิบายอีกทีครับ

สเปก

  • หน้าจอ 4.5 นิ้ว ClearBlack Display
  • ซีพียู Qualcomm Snapdragon 400 ความเร็ว 1.2 GHz แบบ quad-core
  • แรม 512 MB
  • หน่วยความจำภายใน 8 GB รองรับ microSD ได้สูงสุด 128 GB
  • กลัองหลัง 5 ล้านพิกเซลแบบ Auto-Focus พร้อมกับแอป Nokia Camera
  • แบตเตอรี่ 1,830 mAh ถอดเปลี่ยนได้
  • Wi-Fi มาตรฐาน b/g/n, บลูทูธ 4.0, GPS/GLONASS, รองรับ 3G ทุกความถี่

ซอฟต์แวร์

Nokia Lumia 630 จัดได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนตัวแรกของโลกที่ใช้งาน Windows Phone 8.1 รุ่นล่าสุดตัวเต็ม และเฟิร์มแวร์ Lumia Cyan มาพร้อมกับคุณสมบัติทุกอย่างที่มีอยู่ใน Windows Phone 8.1 ตั้งแต่ Action Center ยันไปถึง Cortana โดยประสิทธิภาพในการใช้งานถือว่าดีเทียบเท่ากับรุ่นท็อป ๆ ของ Windows Phone และไม่พบอาการกระตุกหรือ lag แต่อย่างไร

ขณะที่ซอฟท์แวร์ต่าง ๆ ที่ติดมากับเครื่องตั้งแต่ Microsoft Office Mobile, ชุดแอปของ Bing จนไปถึงแอปที่ preload มากับเครื่องอย่างเช่น HERE Maps, HERE Drive+, HERE Transit หรือแม้แต่ Nokia Camera และ MixRadio ก็ตอบสนองการทำงานได้ดีเลยทีเดียว

SensorCore

SensorCore

หนึ่งในจุดเด่นของตัว Lumia 630 หลัก ๆ ก็คือชิปที่เก็บการเคลื่อนไหวของร่างกายเราอย่าง SensorCore (ซี่งมันคืออะไรนั้นบทความนี้อธิบายได้ดีมาก ๆ ครับ) โดยตัว SensorCore ติดตั้งมาพร้อมกับ Lumia 1520, Lumia Icon/930 จนไปถึง Lumia 630, Lumia 635 และ Lumia 638

ชิป SensorCore นั้นเป็นชิปที่กินพลังงานต่ำมาก ฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับเรื่องแบตเตอรี่ โดยในชิปนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลด้านการเดิน, การวิ่ง รวมไปถึงมันสามารถบอกได้ว่าตอนนี้เดินได้กี่ก้าวแล้ว ซึ่งมันดีมาก ๆ สำหรับคนรักสุขภาพ สำหรับแอปที่จะใช้งานตัว SensorCore นั้นจะต้องเชื่อมต่อกับ SensorCore SDK ซึ่งส่วนใหญ่ตอนนี้จะใช้งานได้ในบางแอปเท่านั้น อย่างเช่นตัว Bing Health & Fitness กับแอป Fit Buddy จากนักพัฒนาคนไทยทีม KittyDev ซึ่งทำผลงานนี้ออกมาได้ดีพอสมควรเลยครับ

Fit Buddy

แอบกระซิบนิดนึงว่า ใน Fit Buddy เวอร์ชั่น 2.0 จะมีการนับจำนวนก้าวเวลาขึ้นบันไดด้วยครับ ไม่ต้องอาศัยชิป A____ M_ ใน i_____ _ และ _ ____ ให้เสียตังเล่นครับ :-)

การใช้งานในชีวิตจริง

ปกติแล้วผมมักจะใช้งาน Nokia Lumia 630 ในฐานะอุปกรณ์ฟิตเนสส่วนตัว เนื่องด้วยตัวเครื่องนั้นมาพร้อมกับ SensorCore แม้ว่าส่วนตัวเองก็มี Lumia 1520 อยู่แล้ว แต่สาเหตุที่พกเจ้าตัว Lumia 630 ไปออกกำลังกายด้วยมากกว่า Lumia 630 นั้นเนื่องจากน้ำหนักและขนาดของตัวเครื่องที่ค่อนข้างเบา เก็บใส่กระเป๋าได้ง่าย และกางเกงขาสั่นที่นุ่งไปออกกำลังกายไม่หลุด (ฮา)

การแสตนด์บายของแบตเตอรี่ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ผมทดสอบโดยการไม่เปิดหน้าจอมือถือเลย ผ่านไป 3 วัน แบตเตอรี่ลดเหลือ 8% ซึ่งก็ถือว่าใช้ได้เลย แต่ถ้าเอาจริง ๆ เมื่อทดลองใช้งานจริง ๆ อาจไม่ได้อยู่ทนอย่างที่คิด ตอนไปออกกำลังกาย แบตเตอรี่เหลือ 20% เมื่อออกกำลังกายเสร็จ เล่นอินเตอร์เน็ตเล็กน้อย ขึ้นเตือนว่าแบตเหลือ 10% แล้ว ส่วนตัวถือว่าโดยรวมยังใช้งานได้ดีครับ

มาถึงเรื่องการใช้งานบนหน้าจอ และการโทรออกบ้าง อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า Lumia 630 นั้นได้ตัดเซ็นเซอร์สำคัญ ๆ 2 ตัวออกไปได้แก่ light sensor และ approximity sensor ซึ่ง 2 ตัวนี้มีผลต่อการใช้งานพอสมควร อย่างแรกคือ เมื่อตัดเซ็นเซอร์ 2 ตัวนี้ออก ทำให้ตัวเลือกในการใช้งานระบบปรับแสงอัตโนมัติได้หายไปในทันที แต่แอบโชคดีเล็กน้อยที่ว่า Windows Phone 8.1 นั้นมี Action Center ที่สามารถตั้งค่าปุ่มปรับแสงให้อยู่ในนั้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ยังไม่สะดวกอยู่ดีครับ

แต่ปัญหาสำคัญกลับอยู่ที่การโทรเข้าโทรออกครับ แน่นอนว่าเมื่อตัดเซ็นเซอร์ 2 ตัวนี้ออกแล้ว เวลาเรากำลังเอาหูไปแนบนั้น ก็จะพบปัญหาอันใหญ่หลวงคือ ระบบจะไม่สามารถปิดหน้าจอได้เลย ซึ่งตรงนี้ ทางไมโครซอฟท์เองก็เข้าใจว่าปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่เมื่อตัดเซ็นเซอร์ตัวนี้ออก

ทางแก้อันชาญฉลาดของไมโครซอฟท์ก็คือ ในเมื่อไม่มีเซ็นเซอร์ตัวนี้ ก็ใช้หน้าจอตรวจจับประจุไปเลยสิ ซึ่งตรงนี้มีชื่อเรียกว่า capacitive field หรือสนามประจุสัมผัส (อันนี้ผมแปลเองครับ)

ภาพจาก WMPoweruser

เจ้า capacitive field นั้นจะใช้หน้าจอตรงส่วนด้านบนจับประจุอิเล็กตรอนบนผิวหน้า (ผิวหนังของมนุษย์มีประจุอยู่ครับ) และเทคนิคนี้จะใช้งานใกล้เคียงกับเทคโนโลยี Super Sensitive Touch แต่ต่างกันตรงที่มันจะจับเฉพาะจุดด้านบนเท่านั้น จากภาพด้านบนนั้นค่อนข้างอธิบายได้ชัดเจนเลยทีเดียว จากการใช้งานรับสายโทรออก พบว่า capacitive field ทำงานได้ดีพอสมควร แต่ทว่ากลับมีบางช่วงที่จอมันจะเปิดบ้าง ปิดบ้าง ซึ่งตรงนี้เข้าใจว่าน่าจะเป็นปัญหาของตัว capacitive field ที่ไม่ได้แผ่ไปมากขนาดนั้นครับ

โดยรวมถือว่ากลาง ๆ ค่อนไปทางแย่หน่อย เนื่องจากประสิทธิภาพของ capacitive field ยังทำได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับการใช้ light sensor และ approximity sensor ครับ

กล้อง

Nokia Lumia 630 มาพร้อมกับกล้อง 5 ล้านพิกเซล เช่นเดียวกันกับ Lumia 520 จนถึง Lumia 625 ซึ่งประสิทธิภาพของกล้องถือว่าทำได้ดีเกินคาด ภาพที่ถ่ายออกมานั้นสีสันสวยงามมาก ประกอบกับแอปกล้องอย่าง Nokia Camera ก็ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพการถ่ายภาพดีขึ้นกว่าเดิมเข้าไปอีก

และที่ทำให้ผมตะลึงยิ่งกว่าคือ ในภาพที่มีแสงน้อยอย่างเช่นในร้านอาหารตอนช่วงเย็น ๆ พบว่า Lumia 630 ทำได้ดีมากจนผมตะลึงเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ภาพที่มืดสนิทจริง ๆ ก็ยังทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากไม่มีไฟแฟลชเลย แสงไฟยังฟุ้งอยู่มาก แต่ก็ยังถือว่าสมราคาพอสมควรครับ

ประสิทธิภาพ

ด้านประสิทธิภาพการใช้งานนั้น พบว่า Lumia 630 ถือว่าทำได้ดี (มาก ๆ) ในระดับราคานี้ การตอบสนองด้านการใช้งานถือว่าลื่นไหล รวมถึงเฟิร์มแวร์ Lumia Cyan และ Windows Phone 8.1 ถือว่าทำมาได้ดีมาก ๆ เลยทีเดียว

Wrap-Up

Lumia 630 ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนระดับล่างที่ทำได้ค่อนข้างดีด้านประสิทธิภาพ และประสบการณ์การใช้งาน รวมถึงระบบการใช้งานระดับเดียวกันกับ high end ด้วยราคาที่น่าเย้ายวนใจอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามก็มีข้อติบางส่วน โดยเฉพาะเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่ตัด light sensor และ approximity sensor ออก รวมไปถึงวัสดุตัวเครื่องที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร

แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่า Lumia 630 เป็นสมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ที่น่าสนใจรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว

WindowsMove Review Ratings

ข้อดี

-ประสบการณ์การใช้งานของ Windows Phone 8.1 และ Lumia Cyan ทำได้ดีมาก
-น้ำหนักเบามาก
-หน้าจอสวยงาม
-เล่นเกมลื่นระดับหนึ่ง
-ราคาย่อมเยา

ข้อเสีย

-แรม 512 MB แอปจะน้อยกว่ารุ่นพี่
-วัสดุตัวเครื่องที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร
-เซ็นเซอร์ในเครื่องน้อยมาก ๆ
-แม้ว่าราคาย่อมเยาก็จริง แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่ารุ่นระดับล่าง ๆ ยี่ห้ออื่นอยู่ดี

สำหรับ Lumia 630 วางจำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 4,990 บาท สำหรับรุ่น 1 ซิม และ 5,190 บาทสำหรับรุ่น 2 ซิม วางจำหน่ายแล้ววันนี้ครับ