รีวิว Nokia Lumia 530: เมื่อมือถือ Windows Phone เจาะตลาดต่ำกว่า 4 พัน

เมื่อช่วงเดือนที่แล้ว ทางไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว Nokia Lumia 530 สมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ระดับล่างสุดที่เปิดมาในราคาเพียง 85 ยูโรเท่านั้น (สำหรับราคาในไทยอยู่ที่ 3,690 บาทครับ) ซึ่งไมโครซอฟท์เลือกที่จะให้ตัวนี้เป็นตัวตีตลาดสมาร์ทโฟนที่มีราคาต่ำกว่า 4 พัน (หรือในระดับล่างมาก ๆ) กับคู่แข่งในตลาดที่ตอนนี้ยังแข่งขันกันดุเดือดอยู่มาก และเช่นเคย

ทางทีมงาน WindowsMove เองได้มีโอกาสได้เครื่อง Nokia Lumia 530 มาใช้งาน มันมีอะไรน่าสนใจกันบ้าง เรามาดูกันเลยดีกว่าครับ

หมายเหตุ: ตัวเครื่องได้รับการสนับสนุนจากทางไมโครซอฟท์ ดีไวซ์ ประเทศไทยครับ

แกะกล่อง

Box

กล่องด้านหน้านั้นยังคงรูปแบบเดิมของสมาร์ทโฟนของโนเกียรุ่นปี 2014 ไว้สมบูรณ์แบบ 100% (เช่นเดียวกับ Lumia 930, Lumia 630 และ Nokia X2 ที่เคยได้รีวิวไปก่อนหน้านี้ครับ) ก็ขอไม่พูดพร่ำทำเพลงอะไรมากเกี่ยวกับกล่องครับ ส่วนด้านหลังก็ยังคงบอกสเปกตามปกติครับ โดยสเปกเต็ม ๆ สามารถอ่านได้จากข่าวก่อนหน้านี้ครับ

Box on the Left

เปิดมาจะพบกับใบปะหน้าเล็กน้อยเพื่อแนะนำแอปที่น่าสนใจใน Windows Phone Store (จะมาในลักษณะแผ่นพับ) ถัดลงมาก็จะมีตัวเครื่อง Lumia 530 โดยตัวเครื่องที่ผมได้รับมานั้นจะเป็นรุ่นสีเทาดำครับ

Unboxed

App

ด้านข้างของที่วางเครื่องจะมีช่องใส่แบตเตอรี่, ใบรับประกัน รวมไปถึงคู่มือการใช้งานภาษาไทย (มีเฉพาะภาษาไทยอย่างเดียวครับ)

Manual

Pick up

อีกฝั่งหนึ่งของตัวกล่องของ Lumia 530 จะมีสายชาร์จ (แบบไม่สามารถแยกสายกับหัว adapter ได้) กับหูฟังสีดำแบบเดียวกันกับใน Nokia X2 เป๊ะ ๆ ครับ

Accessories

Pick up

เมื่อนำของที่อยู่ในกล่องมาวางรวมกันก็จะเป็นแบบนี้ครับ น่าแปลกที่รุ่นนี้จะแถมหูฟังมาให้ (แต่เป็นสีดำสีเดียวแบบเดียวกันกับ Nokia X2) ซึ่งตอนนี้ผมเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงแถมมาให้ทั้ง ๆ ที่ Lumia 630 กลับไม่ได้แถมมาให้ สำหรับตัวเครื่องที่ผมได้มานั้นจะเป็นแบบ dual-SIM ครับ (ซึ่งในไทยจะมีขายเพียงแค่รุ่น dual-SIM เท่านั้นครับ) ที่สำคัญคือข้างกล่องนั้นจะแถมตัวซิม Happy ของ dtac ด้วยครับ แต่ในกล่องรีวิวนี้ไม่มีซิม Happy แถมมาให้ เพราะฉะนั้นจึงข้ามไปครับ

All

โดยรวมแล้วยังคงสไตล์ของการจัดวางกล่องแบบเดียวกันกับที่เคยทำกับรุ่นก่อน ๆ ทั้ง 3 รุ่นก่อนหน้านี้ครับ

สำรวจรอบ ๆ เครื่อง

สัมผัสแรกที่ผมได้ลองจับตัว Lumia 530 อย่างแรกคือมันเล็กมากครับ จับค่อนข้างถนัดมือสำหรับคนมือเล็ก ๆ (ซึ่งถือเป็นเรื่องดี) ขณะที่ดีไซน์ด้านนอกยังคงคอนเซปต์เดิมของตระกูล Lumia 5XX ก็คือเป็นแบบหลังเต่าเช่นเคย โดยด้านหน้าของเครื่อง (ภาพข้างบน) นั้นจะมาพร้อมกับลำโพงสนทนา, โลโก้ NOKIA, หน้าจอ 4.3 นิ้ว และก็ไมโครโฟนครับ จะสังเกตได้ว่าไม่มีปุ่มสัมผัสจริง ๆ ด้านหน้าเช่นเดิม แบบเดียวกับ Lumia 630 เป๊ะ ๆ

ด้านข้างขวาไม่มีอะไร ส่วนด้านข้างซ้ายจะมีปุ่มปรับเสียงขึ้นลง และปุ่มเปิดปิดหน้าจอ แบบเดียวกันกับ Lumia 630

ด้านหลังจะมีกล้องขนาด 5 ล้านพิกเซลแบบ fixed focus (ซึ่งส่งผลกระทบต่อการถ่ายภาพพอสมควร แต่จะเป็นอย่างไรเดี๋ยวส่วนรีวิวเรื่องกล้องจะพูดอีกทีครับ)

ด้านบนมีช่องเสียบหูฟัง ส่วนด้านล่างก็มีพอร์ต USB 2.0 ตามปกติครับ

เมื่อลองแกะฝาหลังดู สิ่งแรกที่ผมรู้สึกได้คือมัน "แกะยากมาก" ใช่ครับแกะยากจริง ๆ เพราะถ้าแรงกดไม่มากพอก็ไม่สามารถแกะออกมาได้ครับ พอแกะมาแล้วก็จะพบกับช่องใส่ซิมแรกแบบ micro SIM และช่องใส่ microSD ซึ่ง 2 ช่องนี้จะอยู่ขนาบข้างกับตัวโมดูลกล้อง ส่วนช่องใส่ซิมที่ 2 นั้นจะอยู่ตรงใต้ที่วางแบตเตอรี่ครับ ซึ่งจะเป็นถาดพลาสติกเลื่อนเข้าออก (แข็งแรงพอสมควร)

ส่วนตัวฝาหลังนั้น ถือว่าวัสดุดีกว่าตัว Lumia 630 (มาก) เพราะฝาหลังของตัว Lumia 530 ค่อนข้างแข็งกว่าตัว Lumia 630 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังคงสู้ Lumia 520 ที่ฝาแข็งกว่านี้ไม่ค่อยได้พอสมควรครับ โดยรวมด้านฮาร์ดแวร์ถือว่ารอบนี้ไมโครซอฟท์ทำการบ้านได้ดีมาก ๆ รุ่นหนึ่ง แม้ว่าจะยังมีเรื่องขัดใจตรงที่การแกะฝาหลัง แต่ถึงอย่างไรเมื่อแลกกับความแข็งแรงของตัวฝานั้น ก็ทำให้ผมไม่ค่อยซีเรียสเท่าไรนัก

ซอฟท์แวร์

Lock Screen

Nokia Lumia 530 มาพร้อมกับ Windows Phone 8.1 เฟิร์มแวร์ Lumia Cyan ที่สามารถทำงานแบบเดียวกับรุ่นท็อป ๆ ที่เป็น Windows Phone เหมือนกัน เช่น Cortana, Microsoft Office ฯลฯ ขณะที่ซอฟท์แวร์ของทางไมโครซอฟท์ดีไวซ์อย่างเช่น Nokia Camera และ MixRadio ก็มีมาพร้อมสรรพ ขาดแต่แอปตระกูล HERE และตระกูล Bing เท่านั้น

Lumia Cyan

ความเสถียรของการใช้งานนั้นถือว่าทำได้สมชื่อ Windows Phone เหมือนเดิม ทุกประสบการณ์การใช้งานยังคงเหมือนเดิมทุกอย่างครับ

การใช้งาน Smart Dual-SIM

หนึ่งในจุดขายอย่างหนึ่งของ Lumia 530 คงหนีไม่พ้นเรื่องการรองรับ 2 ซิม ในเครื่อง ซึ่งหนึ่งในฟีเจอร์ชูโรงของทางไมโครซอฟท์ดีไวซ์ก็คือ Smart Dual-SIM นั่นเองครับ โดยหลักการใช้งาน Smart Dual SIM นั้นคือ "การควบคุมการใช้งานซิมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด" หนึ่งในปัญหาของมือถือ 2 ซิมทั่วไปก็คือ ปัญหาสายเข้าที่ดันเข้ามาในซิมหนึ่ง ตอนเวลาที่เรากำลังคุยกับคนอื่น ๆ อยู่ในอีกซิมหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าหากเป็น 2 ซิมแบบปกตินั้น จะไม่สามารถรับสายซ้อนกันได้ในเวลาเดียวกัน และจะทำให้เราพลาดการติดต่อสายอีกสายหนึ่งไปในทันที

วิธีการแก้ปัญหาของระบบ 2 ซิมอันชาญฉลาดของทีมงานไมโครซอฟท์ก็คือ ในเมื่อมันรับสายซิมนี้ไม่ได้ เราก็ตั้งให้มันส่งต่อไปยังอีกซิมเลยสิ [1] ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอีกซิมไม่ได้รับสายได้ดีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ การมี 2 ซิม เรายังสามารถควบคุมการใช้งาน data ในเครื่องได้ดีกว่าซิมเดียวด้วย ทำให้เราสามารถประหยัดเงินได้มากเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เรายังสามารถตั้งชื่อในแต่ละซิมได้ด้วย

สรุปคือ Smart Dual SIM นั้นออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาด้านการรับสายที่อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสสำคัญต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถควบคุมปริมาณการใช้จ่ายของเราได้ดีกว่าเดิมด้วย

ประสบการณ์การใช้งานจริง

ประสบการณ์ที่ผมได้อยู่กับตัว Lumia 530 นั้นถือว่าค่อนข้างดีพอสมควร แต่จากการใช้งานจริงก็กลับพบข้อด้อยที่ตามมาหลอกหลอนจาก Lumia 630 อย่างการที่ไม่มี approximity sensor และ light sensor ที่ทำให้การใช้งานค่อนข้างหงุดหงิดพอสมควร (อย่างเช่น การปรับระดับแสง ซึ่งปกติสามารถตั้งแบบ Auto ได้ แต่รุ่นนี้ต้องปรับเอาเอง แม้จะมี Action Center ก็ยังแก้ปัญหานี้ไม่ค่อยดีนัก)

Action Center

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อจำกัดอีก 2-3 อย่างที่ไม่ได้ตามหลอกหลอน แต่โผล่มาในรุ่นนี้คือ หน่วยความจำภายในเครื่อง และหน้าจอ โดยหน่วยความจำภายในเครื่องนั้นมาพร้อมพื้นที่เพียง 4 GB ซึ่งถือว่าน้อยสุดในบรรดา Windows Phone ทุกรุ่นที่เคยมีมา ซึ่งตรงนี้ถ้าหากใช้งานแบบไม่ใส่ microSD การ์ดก็อาจจะหงุดหงิดได้เช่นกัน ขณะที่หน้าจอของ Lumia 530 นั้นมาพร้อมกับหน้าจอ LCD ธรรมดา ไม่ใช่ ClearBlack Display ที่ทางไมโครซอฟท์ดีไวซ์ (หรือโนเกียเดิม) พัฒนาขึ้นมา หรือแม้กระทั่งจอแบบ IPS ก็ยังไม่มีอีกต่างหาก ทำให้ภาพสีค่อนข้างจืดพอสมควร

โดยรวมถือว่าค่อนข้างโอเคกับราคาและประสิทธิภาพของเครื่อง และข้อด้อยต่าง ๆ นั้นเมื่อเทียบกับราคาและต้นทุนต่าง ๆ แล้วก็ถือว่ายังพอได้ ไม่ถึงกับดีมาก แต่ถ้าราคาลดลงไปกว่านี้หน่อยจะดีกว่ามากครับ

กล้อง

Lumia 530 มาพร้อมกับกล้องขนาด 5 ล้านพิกเซลแบบ fixed focus ซึ่งจะแตกต่างจากกล้องที่มี auto focus ก็คือ เราจะไม่สามารถโฟกัสภาพต่าง ๆ ได้เลย ผลก็คือ ภาพที่ถ่ายออกมานั้น จะโฟกัสได้แค่จุด ๆ เดียว (คือตรงกลางของภาพเท่านั้น) และมีโอกาสสูงที่ภาพจะเบลอ ซึ่งแอป Nokia Camera ในรุ่นนี้นั้นถูกออกแบบเป็นพิเศษให้เข้ากับรุ่นนี้ โดยตัดคุณสมบัติด้านการโฟกัสออก เหลือเพียง 4 ตัวเลือกเท่านั้น คือ ตัวปรับชดเชยแสง, สปีดชัตเตอร์, ค่า ISO และสมดุลแสงสีขาวเท่านั้น

Nokia Camera

จากการทดลองถ่ายภาพของ Lumia 530 นั้น จากการลองมาก็พบว่าภาพที่ถ่ายออกมาไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แต่อาจจะไม่ค่อยสวยมากเมื่อเทียบกับกล้องหลังรุ่นอื่น ๆ (สามารถคลิกที่ภาพเพื่อชมภาพเต็ม ๆ ได้ครับ)

สิ่งที่แย่ที่สุดของการที่ไม่มีระบบโฟกัส ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพในรูปแบบอื่น ๆ ที่รุ่นที่มีกล้องแบบ auto focus ถ่ายได้ เช่น ภาพมาโคร เป็นต้น

ขณะที่สีของภาพนั้นถือว่าสวยงามมาก แม้ว่าจะอยู่ในที่แสงน้อยก็ตาม สวยสมชื่อมือถือโนเกียจริง ๆ ครับ

ด้านการถ่าย Action Shot บน Nokia Camera ก็ทำได้ดีสมชื่อเหมือนกันครับ

โดยรวมแล้วกล้องของ Lumia 530 นั้นถือว่าทำได้พอสมควร แต่ไม่ได้ครบเครื่องเหมือนรุ่นอื่น ๆ

Lumia 630 VS. Lumia 530

Versus

หลังจากที่ดูรีวิวคร่าว ๆ แล้ว หลายคนก็เริ่มเกิดข้อสงสัยมาว่า สรุปแล้วสุดท้ายรุ่นไหนดีกว่ากันระหว่าง Lumia 630 กับ Lumia 530

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนเกี่ยวกับ Form Factor ระหว่าง 2 รุ่นนี้ คือ Lumia 530 นั้น ทำออกมาเพื่อเจาะตลาดล่างโดยเฉพาะ (ซึ่งมันก็เป็นเจตนาเดียวกันกับ Lumia 630) แต่ความแตกต่างคือ Lumia 530 นั้น ต้องการเจาะให้ล่างกว่าที่เคยเป็นอยู่ (ซึ่งจะเห็นได้จากการกระเถิบระดับของรหัสรุ่นเทียบกับราคาในซีรีส์ Lumia 6XX ให้ลงมามากกว่าเดิม)

ถ้าหากเมื่อเทียบกับสเปกแล้ว ไม่ค่อยมีอะไรต่างกันเท่าไร เช่น ความละเอียดพิกเซล, ซีพียู, แรม, ความละเอียดของกล้อง แต่ถ้าถามกันจริง ๆ คือ Lumia 530 ด้อยกว่า Lumia 630 อย่างมาก ตามลิสต์ดังนี้ครับ

1. หน้าจอบน Lumia 630 มาพร้อมกับ ClearBlack Display ซึ่งต่างจาก Lumia 530 ที่ไม่ใช่ ClearBlack Display ทำให้การแสดงผลหน้าจออยู่ในระดับที่เลวร้าย
2. แม้ว่าซีพียู และแรมมันคือไซส์เดียวกัน แต่หน่วยความจำภายในคนละไซส์กันเลย เพราะ Lumia 630 มาพร้อมกับหน่วยความจำภายใน 8 GB ส่วน Lumia 530 มีหน่วยความจำน้อยสุดขีด เพียง 4 GB เท่านั้น

3. และแม้ว่าจะมีซีพียูแบบเดียวกัน แต่ Lumia 630 นั้นมีชิปพิเศษคือ SensorCore ที่วัดก้าวเดินและสถิติต่าง ๆ ไว้ ต่างกับ Lumia 530 ที่ไม่มีตรงนี้เลยแม้แต่น้อย
4. แบตเตอรี่ที่น้อยกว่า Lumia 630 อย่างมาก (แม้จะเปลี่ยนใส่ได้ก็ตาม เทียบง่าย ๆ คือ 1,830 mAh vs. 1,430 mAh) ทำให้ระยะเวลาการใช้งานย่อมน้อยกว่า Lumia 530 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
5. สุดท้ายคือกล้อง แม้ว่าจะความละเอียดพิกเซลเท่ากัน แต่การที่ไม่มีระบบ auto-focus ก็ทำให้การถ่ายภาพดูแย่ลงไปในทันที

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับราคาที่วางจำหน่ายแล้วก็ถือว่าพอรับได้ครับ

Warp-Up

Wrap-Up

สำหรับผู้ที่สนใจสมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ในราคาย่อมเยา ผมว่า Lumia 530 ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจครับ และโดยรวมแล้วก็ถือว่าทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง แม้จะมีข้อที่รู้สึกหงุดหงิดบ้างอย่างเช่นหน่วยความจำที่น้อยสุดขีด (และทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับเฟิร์มแวร์ถัดไป ซึ่งนั่นก็คือ Windows Phone 8.1 Update ว่าจะสามารถอัปเดตได้หรือไม่ หรือจะตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับ HTC 8S) จนไปถึงขนาดหน้าจอที่อาจจะเล็กไปสำหรับหลายท่าน อย่างไรก็ดี Lumia 530 ก็ยังคงเป็นสมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ที่คุ้มค่าสุด ๆ รุ่นหนึ่งครับ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง ASUS Zenfone 4 ที่ราคาดั๊มลงมาต่ำกว่าขณะที่สเปกก็หนีไปไม่มากก็ยิ่งทำให้ผู้ซื้อคิดหนัก (แต่ถ้าหากซื้อเพราะแบรนด์ ผมว่า Lumia 530 ก็น่าสนใจไม่น้อย)

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ด้วยราคาของเครื่องนั้น (3,690 บาท) ทำให้ยิ่งต้องชั่งใจหนักเลย เพราะเพิ่มเงินอีกเพียง 1,300 บาท ก็สามารถซื้อ Lumia 630 (ซึ่งตอนนี้ผมยกให้เป็นสมาร์ทโฟนระดับ low-end ระบบปฏิบัติการ Windows Phone ที่ดีที่สุดของไมโครซอฟท์) ได้แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้ที่สนใจหลายคนเองก็เริ่มชั่งใจไม่ถูกแล้ว ถึงกระนั้น Lumia 530 นั้นก็ยังคงถือว่าเป็นสมาร์ทโฟน Windows Phone 8.1 ที่ดีรุ่นหนึ่งในระดับราคานี้

WindowsMove Review Score

เหมือนกับทุกรีวิวที่เคยเขียนมา เราก็จะมีการจัดระดับของเรตติ้งว่าน่าใช้งานเพียงไรสำหรับทีมงาน โดยเกณฑ์ก็ยังคงเหมือนเดิมคือ ดีไซน์, สเปก, ประสบการณ์การใช้งาน, ความคุ้มค่า และราคา ซึ่งทางทีมงานได้พิจารณาแล้ว และให้คะแนน Lumia 530 อยู่ที่

WindowsMove Review Score

ข้อดี

1.ฝาหลังได้รับการปรับปรุงขึ้นมา ทำได้ดีขึ้นมาก
2.คุณภาพเสียงสนทนายังคงชัดแจ๋วเหมือนเดิม
3.Windows Phone 8.1 ที่ยังได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง
4.ประสิทธิภาพเทียบกับราคา ถือว่าดีมาก ๆ รุ่นหนึ่ง
5.ราคาย่อมเยา

ข้อเสีย

1.ขาดเซนเซอร์วัดแสง ทำให้ประสบการณ์การใช้งานไม่ค่อยดีเท่าไร
2.หน้าจอสียังไม่ค่อยโอเค แต่ด้วยราคานี้อาจจะพอให้อภัยได้ (แต่น่าจะดีกว่านี้)
3.ฝาหลังแกะยาก
4.ซอฟท์แวร์ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเท่าไรนัก
5.กล้อง fixed focus ทำให้ภาพยังไม่ออกมาดีเท่าที่ควร
6.ด้วยเมมโมรีภายใน 4 GB ก็ทำให้ผมกังวลเกี่ยวกับการอัปเดตเฟิร์มแวร์ตัวถัดไป ว่าจะอัปเดตได้หรือไม่ หรือจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันกับ HTC 8S

Nokia Lumia 530 จะมีให้เลือกทั้งหมด 4 สีคือ สีเทาดำ, สีขาว, สีส้ม และสีเขียวสดใส วางจำหน่ายในราคา 3,690 บาทครับ วางจำหน่ายแล้ววันนี้ครับ

อ้างอิงข้อมูลเชิงอรรถ

[1]: อ้างอิงจาก Lumia Conversations